หัวเข่าลั่นบ่อย ๆ เสียงดังกรอบแกรบจากข้อเข่า เป็นเรื่องที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นตอนลุกนั่ง เดิน หรือออกกำลังกาย บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่รู้หรือไม่ว่าเสียงดังเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงปัญหาสุขภาพที่ซ่อนอยู่ บทความนี้จะพาคุณไปหาสาเหตุที่ทำให้เกิดเสียงดังในข้อเข่า วิธีสังเกตอาการเบื้องต้นที่บ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพ และแนวทางการดูแลรักษาที่เหมาะสม
หัวเข่าลั่น หรือเสียงดังในเข่า เกิดจากอะไร
หัวเข่าลั่นเกิดจากอะไร? เสียงลั่นเข่าบ่อย ๆ อาจเกิดจากฟองแก๊สเล็ก ๆ ที่สะสมอยู่ในน้ำหล่อเลี้ยงข้อเข่า เมื่อขยับเข่า ฟองแก๊สเหล่านี้จะแตกตัว ทำให้เกิดเสียงดังขึ้น ซึ่งปัญหานี้มักเกิดตอนงอเข่าเยอะ ๆ เช่น นั่งยอง ๆ หรือคุกเข่า ถ้าปล่อยไว้ไม่ดูแล อาจนำไปสู่ปัญหาข้อเข่าเสื่อมได้ในอนาคต
สาเหตุที่ทำให้หัวเข่ามีปัญหา
หัวเข่าลั่นหรือเสียงดังในเข่าสามารถเกิดจากความผิดปกติภายในข้อเข่าเอง หรือจากโรคที่เกี่ยวข้องกับข้อเข่า โดยมักพบร่วมกับอาการปวด ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่
- โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เกิดจากการเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อน ทำให้เกิดการเสียดสีและเสียงดังขณะขยับเข่า นอกจากเสียงดังแล้ว มักมีอาการปวด บวม และเข่าติดแข็ง
- การบาดเจ็บ เช่น การเล่นกีฬา การหกล้ม หรือการใช้เข่ารับน้ำหนักมากเกินไป อาจทำให้เกิดการฉีกขาดของหมอนรองกระดูก เส้นเอ็น หรือเอ็นไขว้ ทำให้เกิดเสียงดังและปวด
- โรคข้อเข่าอักเสบ อาจเกิดจากการติดเชื้อ หรือจากภาวะภูมิต้านทานตัวเองทำลายเซลล์ของร่างกาย (Autoimmune disease) ทำให้ข้อเข่าบวม แดง ร้อน และปวด
- โรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น โรคเกาต์ หรือโรคสะเก็ดเงิน อาจมีอาการร่วมที่ข้อเข่า เช่น บวม แดง ปวด และมีเสียงดัง
สังเกตอาการของหัวเข่าลั่น
อาการหัวเข่าลั่นเป็นอาการที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน และสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กรณีหลัก ๆ ดังนี้
หัวเข่าลั่น แต่ไม่มีอาการปวด
อาการหัวเข่าลั่นตอนขยับเข่า งอเข่า หรือเหยียดเข่า ถือเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยในคนทั่วไป โดยเกิดจากการที่กระดูกอ่อนภายในข้อเข่าเคลื่อนที่เข้าที่ ทำให้เกิดเสียงดังขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นสัญญาณของโรคข้อเข่าเสื่อมเสมอไป
หัวเข่าลั่น ร่วมกับมีอาการปวด
ทุกครั้งที่คุณงอเข่าหรือขยับเข่าแล้วรู้สึกว่าหัวเข่าลั่น พร้อมกับมีอาการปวดตามมา หรือแม้แต่เวลาที่กดลงไปที่เข่าแล้วรู้สึกเจ็บ อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าข้อเข่าของคุณกำลังเสื่อมสภาพ ซึ่งอาการปวดอาจรุนแรงขึ้นได้หากคุณมีอาการเข่าติดขัด หรือรู้สึกเหมือนมีอะไรขัด ๆ ทุกครั้งที่ขยับเข่า ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าโรคข้อเข่าเสื่อมของคุณอาจอยู่ในระยะที่รุนแรงขึ้นแล้ว
หัวเข่าลั่น เป็นสัญญาณของโรคอื่น ๆ หรือไม่
หัวเข่าลั่นเป็นสัญญาณที่ร่างกายกำลังบอกว่าคุณอาจจะกำลังเสี่ยงต่อการเป็นโรคอื่น ๆ ได้ ดังนี้
โรคข้อเข่าเสื่อม
โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นภาวะที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนผิวข้อเข่า ซึ่งทำหน้าที่ลดแรงกระแทกและช่วยให้ข้อเข่าเคลื่อนไหวได้อย่างราบรื่น เมื่อกระดูกอ่อนเสื่อมสภาพลง จะทำให้เกิดการเสียดสีระหว่างกระดูก ทำให้เกิดอาการปวด บวม และข้อเข่าเคลื่อนไหวไม่สะดวก
นอกจากนี้ โรคข้อเข่าเสื่อมยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างข้อเข่า เช่น มีการลดลงของน้ำในข้อ กระดูกงอกผิดปกติ กล้ามเนื้อและเอ็นรอบข้อหย่อนยาน และกระดูกอ่อนที่รองรับน้ำหนักเสื่อมสภาพลง ซึ่งจะยิ่งทำให้อาการปวดรุนแรงขึ้นและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก โดยผู้ป่วยในระยะที่รุนแรงอาจมีอาการขาโก่งเข้าด้านในหรือบิดออกข้างนอก และไม่สามารถรับน้ำหนักได้ตามปกติ
หมอนรองกระดูกเข่าฉีกขาด
หมอนรองกระดูกเข่าฉีกขาด เป็นอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นได้บ่อย โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ชอบเล่นกีฬาหรือผู้สูงอายุ ซึ่งอาการนี้มักเกิดจากการบาดเจ็บเฉียบพลัน เช่น การบิดข้อเข่าอย่างรุนแรงขณะเล่นกีฬา การหกล้ม หรืออุบัติเหตุจากการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การกระโดดลงจากที่สูง ซึ่งการบาดเจ็บเหล่านี้จะทำให้หมอนรองกระดูกเข่าที่ทำหน้าที่เป็นเบาะรองรับแรงกระแทกเกิดการฉีกขาดได้
โรคข้อเข่าติดเชื้อ
โรคข้อเข่าติดเชื้อ เป็นภาวะที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียซึ่งแพร่กระจายเข้าสู่ข้อเข่าผ่านทางกระแสเลือด เมื่อแบคทีเรียเข้าสู่ข้อเข่า จะก่อให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง ทำให้ข้อเข่าบวม แดง ร้อน และปวดอย่างมาก
โรคข้อเข่าอักเสบเฉียบพลัน
โรคข้อเข่าอักเสบเฉียบพลัน เป็นภาวะที่เกิดจากการอักเสบของข้อเข่าอย่างรวดเร็ว มักมีสาเหตุมาจากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การใช้ข้อเข่าซ้ำ ๆ ในท่าทางที่ไม่เหมาะสม หรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ซึ่งการเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนในข้อเข่าที่เกิดจากการใช้งานเป็นเวลานานก็อาจเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดอาการอักเสบเฉียบพลันได้
การวินิจฉัยของแพทย์
แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติอาการ ตรวจร่างกายโดยเน้นที่ข้อเข่า และอาจสั่งตรวจเพิ่มเติม เช่น
- เอกซเรย์ เพื่อดูความผิดปกติของกระดูกและช่องว่างระหว่างกระดูก
- MRI ให้ภาพที่ละเอียดของเนื้อเยื่ออ่อนในข้อเข่า ช่วยในการตรวจพบความผิดปกติของกระดูกอ่อน เอ็น หรือเส้นเอ็น
- ตรวจเลือด เพื่อตรวจหาโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อ
- ตรวจน้ำไขข้อ เพื่อตรวจหาการอักเสบหรือการติดเชื้อในข้อเข่า
หัวเข่าลั่นรักษาอย่างไร ให้ถูกวิธี
เมื่อผู้ป่วยมีอาการหัวเข่าลั่นร่วมกับอาการปวด แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด โดยเริ่มจากการสอบถามประวัติอาการและการตรวจร่างกาย จากนั้นอาจทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น การเอกซเรย์ เพื่อดูสภาพของกระดูกและข้อต่อในบริเวณหัวเข่า หากผลการตรวจพบว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งแพทย์จะวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลและระดับความรุนแรงของโรค ซึ่งอาจรวมถึง
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การลดน้ำหนัก การหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีแรงกระแทกต่อเข่า การใช้เครื่องช่วยเดิน หรืออุปกรณ์พยุงเข่า
- การใช้ยา ยาแก้ปวด ยาต้านการอักเสบ
- การฉีดยา ฉีดยาเข้าข้อเข่าเพื่อลดอาการปวดและอักเสบ
- การทำกายภาพบำบัด เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า เพิ่มความยืดหยุ่น ปรับปรุงการเคลื่อนไหวของข้อเข่า และลดอาการปวด
- การผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่น ๆ โดยการผ่าตัดอาจเป็นการเป็นเปลี่ยนกระดูกอ่อน หรือใส่ข้อเทียม
อย่างไรก็ตาม การเลือกวิธีการรักษาหัวเข่าลั่นจะขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย ระดับความรุนแรงของโรค สภาพทั่วไปของร่างกาย และกิจกรรมที่ผู้ป่วยต้องทำในชีวิตประจำวัน
6 เคล็ดลับดูแลอาการหัวเข่าลั่น
มาดูกันว่าเราสามารถป้องกันอาการหัวเข่าลั่นได้อย่างไรบ้าง
- ลดภาระให้หัวเข่า หลีกเลี่ยงการยืนนาน ๆ หรือทำกิจกรรมที่ต้องงอเข่าซ้ำ ๆ เช่น การนั่งยอง ๆ การนั่งพับเพียบ หรือการเดินขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ
- เลือกออกกำลังกายที่เหมาะสม เลือกออกกำลังกายที่ไม่ก่อให้เกิดแรงกระแทกต่อข้อเข่า เช่น การว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน หรือโยคะ การเดินบนพื้นนุ่ม ๆ ก็เป็นทางเลือกที่ดี
- ควบคุมน้ำหนัก น้ำหนักตัวที่มากเกินไปจะส่งผลให้ข้อเข่าต้องรับน้ำหนักมากขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอาการบาดเจ็บ ควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- เลือกเฟอร์นิเจอร์ที่เหมาะสม เลือกใช้เก้าอี้ที่มีที่รองหลังและที่วางเท้า เพื่อลดแรงกดทับที่ข้อเข่า เวลานั่งทำงานควรนั่งให้หลังตรง และปรับอิริยาบถบ่อย ๆ
- เสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า เช่น การทำสควอท (Squat) หรือการยกขา (Leg Raise) จะช่วยให้ข้อเข่ามีความแข็งแรงมากขึ้น
- บำรุงข้อเข่าด้วยอาหาร อาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม ปลาเล็กปลาน้อย และผักใบเขียว จะช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ส่วนอาหารที่มีคอลลาเจน เช่น น้ำซุปกระดูก หรือเจลาติน จะช่วยบำรุงข้อต่อ
สรุป
หัวเข่าลั่นหรือเสียงลั่นในข้อเข่ามักเกิดจากการเสียดสีของกระดูกอ่อนหรือเส้นเอ็นภายในข้อต่อ หากมีอาการปวดร่วมด้วย อาจเป็นสัญญาณของการอักเสบหรือการบาดเจ็บของข้อเข่า แต่สามารถดูแลข้อเข่าให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกายที่เหมาะสมและควบคุมน้ำหนักตัว ซึ่งเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด นอกจากนี้ หากมีอาการผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพข้อเข่า